สาสน์จากอาจารย์หมอมนตรี

  ความทรงจำถึงศิษย์สวนดอกรหัส 09

เมื่อคืนวันที่ 12 มกราคม 2546 ผมไปงานของหมอสวนดอกที่โรงแรมอิมพีเรียล แม่ปิง เชียงใหม่ ปรากฏว่าเป็นลูกหมอทั้งเจ้าบ่าวและเจ้าสาว พ่อเจ้าบ่าวคือสวนดอกรุ่น 09 คุณหมอเดชา คูวุฒิยากร พ่อเจ้าสาวคือศิริราชรุ่น 62 เป็นงานแต่งงานที่ดูเป็นกันเองดี เชิญแขก 18.30 แขกบางคน (เช่นผมกับภรรยา) ไปตั้งแต่ 18.00 เพราะหลังจากนั้นไม่มีคนว่างขับรถให้ เพราะแก่แล้วขับรถกลางคืนไม่ปลอดภัย ให้ลูกสาวมารับกลับ 20.30 งานจะเลิกหรือไม่ก็ช่าง ภรรยาของผมอิ่มแล้ว ผมกินอาหารมังสวิรัติ กินได้แต่ผลไม้

19.30 น. ประธานในงานคือ ท่านนายกเทศมนตรีนครเชียงใหม่ก็มาถึง บรรดาแขกที่หิวข้าวเมื่อเห็นเจ้าภาพใหญ่มาเรียบร้อยแล้วก็เดินไปตักอาหาร Buffet กินกันเองเพราะนั่งรอหิวอยู่ชั่วโมงกว่าแล้ว กลิ่นอาหารก็โชยเข้าจมูกตลอดเวลา ปรากฏว่า ประมาณสองทุ่ม พิธีกรหญิงจึงเริ่มเชิญแขกรับประทานอาหารซึ่งแขกกว่าครึ่งกินอิ่มแล้วหรือกำลังกินโดยพิธีกรทราบหรือแกล้งทำไม่ทราบก็ไม่รู้แต่ก็เชิญแขกกินอาหาร (ตามโผที่เตรียมไว้) เคยมีงานหนึ่งที่โรงแรมพรพิงค์ เชิญแขก 18.30 ผมไปถึง 18.00 ปรากฏว่าอาหารโต๊ะจีนได้เสริฟไปสามสี่อย่างแล้วอย่างนี้ก็มี

บทเรียนนี้สอนให้รู้ว่าพิธีกรนั้นไม่ใช่ว่าใครๆก็เป็นได้สามปีมาแล้วมีพิธีกรงานแต่งงานคนหนึ่งเป็นถึงอาจารย์มหาวิทยาลัย ขอร้องให้เจ้าบ่าวเจ้าสาวพูดภาษาฝรั่งเศส ทั้งๆที่ในงานมีชาวฝรั่งเศสเพียงสองคน อย่างนี้ก็มีด้วย

งานแต่งงานลูกชายหมอเดชานั้น สองทุ่มครึ่งผมก็ลากลับ ทั้งๆที่พิธีการยังไม่เริ่ม (ต้องขอโทษหมอเดชาด้วย) มิฉะนั้นผมต้องเรียกสี่ล้อแดง เพราะเชียงใหม่ไม่มีรถแท็กซี่ และไม่มีรถเมล์ ทั้งๆที่ในเขตเทศบาลนครเชียงใหม่มีที่พักผู้โดยสารรถเมล์ที่สวยที่สุดที่ผมเคยเห็นมา สวยกว่าในกรุงเทพฯ แต่ไม่มีรถเมล์วิ่ง จริงๆนะครับ

รุ่งขึ้นผมได้รับจดหมายจากคุณหมอธวัช สุนทราจารย์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งท่านก็เป็นสวนดอก รหัส 09 เหมือนกัน ท่านให้ผมเขียนอะไรๆที่เกี่ยวกับสวนดอกรหัส 09 ผมก็เลยเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา

สวนดอกรหัส 09 นี้ ค่อนข้างจะพิเศษสำหรับผม เพราะผมขึ้นไปถึงเชียงใหม่เมื่อ 14 ธ.ค.2503 และไปสอน สรีระวิทยาให้สวนดอกรหัส 01 เมื่อวันที่ 9 มกราคม 2504 หลังจากที่นศพ.รุ่นนี้เรียนทุกๆ วิชาของแพทย์ปีที่สอง (ปัจจุบันเรียกปีที่ 3) หมดแล้ว วิชา Preclinic ปีแรกที่ยังไม่ได้เรียนคือ สรีระวิทยาเท่านั้น นอกจากนั้นคือ กายวิภาคและชีวเคมีเขาเรียนหมดแล้วที่คณะวิทยาศาสตร์ของ อจ.ดร.สตางค์บ้าง ที่ภาควิชาชีวเคมีของคณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยบ้าง

ผมขึ้นเชียงใหม่ปี 2503 ทำงานในภาควิชาสรีระวิทยาซึ่งประกอบด้วยสามภาควิชารวมกันคือ สรีระวิทยา ชีวเคมีและเภสัชวิทยา อาจารย์ทุกคนต้องสอนวิชาของสามภาควิชานี้ได้ด้วย พวกอาจารย์ทั้งหลายที่ผ่านการศึกษาในสหรัฐอเมริกามาสดๆ ร้อนๆ พยายามแยกสามภาควิชานี้ออกจากกัน เพราะมหาวิทยาลัยในอเมริกาที่ไปเรียนกันมานั้นไม่มีที่ไหนเลยที่เขารวมกันอยู่อย่างมหาวิทยาลัยในประเทศไทยของเรา เพราะงานมันไม่เหมือนกัน และแล้วการดิ้นรนของเหล่าอาจารย์ทั้งหลายก็สำเร็จ มีการแยกภาควิชาชีวเคมี และเภสัชวิทยาออกเป็นอิสระ (ปัจจุบัน ได้ข่าวว่าทางมหาวิทยาลัยจะให้ทุกๆคณะรวมสองภาควิชาเข้าเป็นหนึ่งภาควิชา เพื่อประหยัดบุคลากร (แปลกดีนะครับ) ไม่ทราบว่าความคิดท่านผู้ใดคิดถอยหลังเข้าคลองได้ขนาดนั้น)

พอแยกภาควิชาเป็นอิสระ เมื่อปี 2509 ผมก็ได้เป็นหัวหน้าภาควิชาสรีระวิทยาคนแรกของสวนดอก (คนอื่นๆผมไม่นับเพราะตอนนั้นสามภาควิชายังรวมกันอยู่) ที่ผมจำได้เพราะปี 2509 นั้น แซม ลูกชายคนสุดท้องของผมเกิดเมื่อ 2 มีนาคม 2509 Dr.Sam Marotta ที่ปรึกษาทางสรีระวิทยาของ University of Illinois ได้ช่วยผมวางแผนงานของภาควิชาสรีระวิทยาใหม่และผมก็เลยตั้งชื่อลูกชายคนเล็กนี้ว่า “แซม” ปัจจุบันนี้ แซมเขารวยมากจากการขายผลิตภัณฑ์สมุนไพรเสริมความงามของดร.สาโรช

พอขึ้นปีการศึกษา 2511 นักศึกษามช.รุ่นสาม หรือ สวนดอกรหัส 09 ก็มาเรียนสรีรวิทยากับผม ผมก็ไปที่สำนักคณบดี ขอทะเบียนของนศพ.รุ่น 09 นี้มาทำประวัติการศึกษาสรีระวิทยา และทะเบียนของนศพ.รุ่นนี้ยังอยู่กับผมจนทุกวันนี้ โดยสำนักคณบดีไม่เคยสนใจเรียกคืนจากผมเลย ผมจึงทราบชื่อบิดามารดา และวันเดือนปีเกิดและที่อยู่ของนศพ.รุ่นนี้ทุกๆคน เมื่อ 12 มกราคม 2546 ในงานแต่งงานที่ผมกล่าวถึงในตอนต้น ผมถามหมอเดชาว่า “หมอเกิด 4 ก.ย. 2489 ใช่หรือไม่ หมอเดชางงเต็กเลย คงสงสัยว่าทำไมผมทราบความจริงเป็นอย่างนี้แหละครับท่านสารวัติ

สวนดอก 09 นี้มีหลายอย่างที่น่าจดจำ เพราะตอนนั้นเรียนสรีระวิทยารวมกับ นศ.ทันตแพทย์ ผมจำได้ว่าเมื่อไหร่ที่ นศท.ดวงพร ไปรมดรัม นศพ.ธวัชต้องไปรมดรัมบ้าง เป็นเช่นนี้ทุกๆครั้งที่มีการทดลองสรีระวิทยา นอกจากนั้นเวลามีการผ่าตัดสุนัข นศพ.ธวัชซึ่งเป็นนักเรียนแพทย์จะต้องไปวุ่นวายอยู่ที่กลุ่มของนศท.ดวงพร ซึ่งเป็นนักศึกษาทันตแพทย์ปีที่สามเหมือนกัน เรียกว่ากามเทพแผลงศรรักกันในตู้รมควันนั้นแหละครับ ปัจจุบันนี้คุณหมอธวัช(โก๋) สุนทราจารย์ ท่านเป็นถึงรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข ผมไม่ทราบว่าท่านมีบุตรกับทันตแพทย์หญิงดวงพรกี่คนแล้ว จำได้ว่าตอนที่ท่านไปฮันนีมูนที่พัทยานั้น ผมก็พาครอบครัวไปพักผ่อนที่พัทยาเหมือนกัน

เมื่อประมาณปี 2520 คุณหมอสุนทร ทองคง เพื่อนผมเป็น สสจ.นครสวรรค์ คุณหมอธวัช ทำงานที่อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์เหมือนกัน น.พ.สุนทรเคยพูดว่า “หมอมนตรี ลูกศิษย์เชียงใหม่ของหมอคนนี้ฟิตเหลือเกิน ทำงานดีมาก ในอนาคตผมว่าต้องได้เป็นปลัดกระทรวงแน่ๆ” ก็รอดูกันไป

นอกจากนั้น สวนดอกรุ่น 09 ที่ดังระเบิดอีกคน คือ คุณหมอสมชาย ศรียศชาติ ที่ ร.พ.ศิริราช ที่ท่านได้ทำ By Pass ให้คนไข้ไปพันกว่าคนแล้ว(2543) ทำชื่อเสียงให้สวนดอกและศิริราชมากทีเดียว ที่สำคัญกับผมมากคือ ผมทำหนังสือ “มนตรี 60” และ “มนตรี 72” แล้วส่งไป “ไถ” ลูกศิษย์ทั่วประเทศ ตลอดจนในสหรัฐอเมริกา เพื่อเอาเงินมาช่วย นศพ.ที่ยากจน ปรากฏว่าผมได้เงินประมาณ สี่แสนสี่หมื่นบาท(ปี 2545) ตั้ง “ทุน นพ.มนตรี กันตะบุตร” ไว้ที่คณะแพทย์ศาสตร์ มช. เพื่อเอาดอกเบี้ยช่วยเหลือนศพ.ที่ยากจนแต่ไม่โดดเรียน จบไปสี่ห้าคนแล้ว ในจำนวนศิษย์เก่าสวนดอกที่ร่วมบริจาคนี้ มีบริจาคตั้งแต่สูญ (คือรับหนังสือแล้วทำเฉยๆเสีย) ประมาณ 120 คน จนถึงผู้ที่บริจาคหนึ่งหมื่นห้าพันบาท ซึ่งก็คือคุณหมอสมชาย ศรียศชาตินี่แหละครับ ต้องขอขอบคุณไว้ ณ ที่นี้ด้วย (พร้อมๆ กับทวงเงินผู้ที่ไม่บริจาคไปในตัว)

หมายเลข 1 ของสวนดอกรุ่นนี้คือคุณหมอกนกนาถ ปัจจุบันเป็นผอ.รพ.แม่สอด ผมเคยไปเยี่ยมเมื่อประมาณ 25 ปีแล้ว ทราบว่าท่านไม่สะสมที่ดิน เพราะไม่ทราบว่าพม่าจะบุกแม่สอดเมื่อไหร่ ท่านจึงสะสมแต่ทับทิม เวลาชาวพม่ามารักษา ท่านไม่รับเงินจ๊าดของพม่าท่านรับแต่ Ruby ผมว่าป่านนี้คุณหมอกนกนาถคงมีทับทิมเต็มโอ่งแล้วกระมัง ส่วนคุณหมอฉัตรชัย หวังเชื้อ ที่ทำงานอยู่สมุทรปราการ นั้น เวลาผมไปนอนเฝ้าไข้คุณพ่อผมเมื่อปี 2526 คุณหมอฉัตรชัย บริการอาหารให้ผมวันละสามเวลาเลย ผมยังคงจำได้จนบัดนี้ ส่วนคุณหมอธนานั้น คุณย่าของท่านเรียนพยาบาลขณะเดียวกับที่คุณพ่อของผมเรียนแพทย์ที่ศิริราช เมื่อคุณย่าของคุณหมอธนา พบผมวันแรก ท่านว่าอย่างไรทราบไหมครับ ท่านว่า “หมอนะ หล่อไม่ได้หนึ่งในร้อยของคุณพ่อของหมอ” ผมยังจำได้อยู่จนทุกวันนี้ ส่วนคุณหมอเนื้อทิพย์ นั้น ผมไปในงานแต่งงานของท่านที่ภัตตาคารริมแม่น้ำเจ้าพระยา ผมจำได้ว่างานนั้น เจ้าสาวเหมาร้องเพลงเองตลอดงาน ปล่อยให้นักร้องที่จ้างมา นั่งตบยุงตั้งแต่หัวค่ำยันสี่ทุ่ม และขณะนี้เมื่อไรที่หนังสือวัยรุ่นมีรูปลูกชายของคุณหมอเป็นหน้าปก คุณหมอจะเหมาหนังสือทั้งร้านเพื่อแจกคนรู้จักทั้งเชียงใหม่ เมื่อวันแต่งงานลูกชายหมอเดชา ก็เอารูปลูกชายมาโชว์อีก ผมถามว่าลูกชายรูปหล่อคนนี้ชื่ออะไร หมอเนื้อทิพย์ตอบว่า อยู่เมืองไทย หนูเรียกเขาว่าอ้ายอั้น แต่ไปอยู่อังกฤษ เขามีชื่อใหม่ว่า “ไบรอั้น” ว่าไปโน่น

ส่วนคุณหมอธงชัย ตอนที่ท่านเป็นสสจ.เชียงใหม่ ท่านพาคณะสสจ.เชียงใหม่ไปล่องแก่งแม่แตง ฯลฯ ท่านชวนผมไปด้วย สนุกสนานและสาหัสสากรรจ์มาก เกิดมาไม่เคยเดินมากมายขนาดนั้น แต่ก็สนุกและสมบุกสมบันดี แต่ให้ไปตอนนี้เห็นจะไม่เอา เพราะตอนนั้นยังไม่ถึง 70 ตอนนี้ผม 74 แล้ว แถมกินอาหารมังสวิรัติอีก คงไปร่วมเดินทางกับใครๆ ลำบาก

คุณหมอบุญเกิด แห่งอุตรดิตถ์คงร่ำรวยมากเพราะเฉือนเศษๆ ที่ดินของท่านใกล้ๆ ประตูเกษตร มช.ขายให้เพื่อนผม สองห้อง แปดล้านบาท ส่วนคุณหมอประเสริฐ ลีอังกูรเสถียร นั้น ผมไปงานแต่งงานของท่าน ได้ของชำร่วยเป็น “ขอแขวนผ้าเช็ดมือ” ซึ่งผมยังใช้อยู่จนทุกๆ วันนี้ ดังนั้น ทุกๆ วันที่ 3 ก.พ. ผมต้องโทรศัพท์ไป Happy Anniversary กับท่านทุกๆ ปี ที่จำได้อีกคนคือ คุณหมอพินิจ ลิ้มสุคนธ์ เพราะตอนที่ผมเป็น Diaphragmatic Hernia นั้น หมอท่านหนึ่งอาสาผ่าตัดให้ เขาบอกว่า “ง่ายจะตายไป ผ่าท้องเข้าไปแล้วดึงกระเพาะอาหารลงมาจากช่องอกแล้วเย็บให้แน่น ครึ่งชั่วโมงก็เสร็จ” ผมยังถามเขาว่า “ใครเสร็จ หมอหรือคนไข้” ผมไปหาคุณหมอพินิจ ท่านให้ Plasil ผมกิน 30 เม็ด พร้อมทั้งบอกว่า “อาจารย์กินครบ 30 เม็ด นี้แล้วไม่หาย อาจารย์มาเตะผมได้เลย” ผมยังอยากถามว่า “ขอเตะก่อนได้หรือไม่” ปรากฏว่าผมหายจากโรคนั้นจริงๆ จนถึงทุกวันนี้ เพราะยา Plasil ของหมอพินิจ หลังจากนั้นไม่นาน คุณหมอที่อาสาผ่าตัดให้ผมนั้น ท่านก็เป็นโรคนี้บ้าง ท่านรีบมาถามผมว่า ไปหาหมอที่ไหนโรคนี้จึงหายไป แปลกดีนะ ทีตัวเองไม่ยอมรับการผ่าตัด คุณหมอพินิจนี้ได้ลูกชายเป็นหมอ เรียนเก่งเหมือนพ่อ ได้เกียรตินิยม และได้ 4 เกือบทุกวิชา คุณหมอพินิจนี้มีรายการ “หมอสามบาท” ทางวิทยุทุกๆ วันในเชียงใหม่ ใครสงสัยอะไรก็โทร.ไปถามระหว่างรายการ ค่าโทร.สามบาทเท่านั้น คนติดรายการนี้ทั้งเชียงใหม่ ผมทราบว่าหนังสือ “หมอปากหมา” ทั้งสามเล่มของท่านขายได้ดีมาก

คุณหมออนันต์ศักดิ์ เลิศปัญญา ที่แปดริ้ว ท่านเคยบอกว่า ตอนที่ท่านแต่งงาน นั้น ผมเป็นคนสวมพวงมาลัยให้ ผมเองก็แก่จนจำไม่ได้ว่าสวมให้ใครไปบ้าง เมื่อไร และที่ไหน จำได้แต่ว่าท่านอยู่แปดริ้วมานานแล้ว

ครั้งหนึ่งนานมาแล้ว ผมจำได้ว่าคุณหมอมันยิดซิงค์ และคุณหมอพินิจ เคยช่วยชีวิตนักศึกษา มช.ไว้ได้อย่างประหลาดที่สุด คือนักศึกษาคนนั้น ดูเหมือนจะชื่ออโนชา หรืออะไรที่แปลว่า “ม้า” เขาจมน้ำทีสระรุจิฯ เพื่อนๆ เอามา ER คุณหมอพินิจทำ Tracheotomy ได้น้ำพุ่งขึ้นมาเกือบชนเพดานห้อง ER ซึ่งไม่สูงมาก สวน Catheter ได้ Urine สีเหมือนโค้ก สองหมอปรึกษากันว่าถ้าไม่ทำอะไรคนไข้ตายแน่ๆ แต่ถ้าทำอาจรอด เพราะ RBC นั้น Hemolyse เกือบหมดแล้ว ท่านเลยช่วยกันทำ Total Blood Transfusion หมอพินิจเอาเลือดเสียออกทาง Brachial Artery ข้างซ้าย ส่วนหมอมันยิดซิงค์ เอาเลือดจาก Donor เข้า Brachial Vein ข้างขวา ส่วน Donors นั้น มีมากเพราะนศ.มช.มาเยี่ยมเพื่อนกันนับร้อย ปกติการทำ Total Blood Transfusion นั้น เขาทำกันในเด็กเกิดใหม่ ทั้งตัวมีเลือดไม่ถึงลิตร รายนี้นศ.มช.อายุประมาณ 20 ร่างสูงใหญ่ ผลปรากฏว่าคนไข้รอดตาย และถ้าบังเอิญได้มาอ่านบทความนี้ก็ควรขึ้นมาคารวะคุณหมอพินิจ ลิ้มสุคนธ์ที่เชียงใหม่ราม 2 ส่วนคุณหมอมันยิดซิงค์ อยู่ที่สหรัฐอเมริกา ไม่ทราบว่าที่ไหน แต่ทราบว่าเป็นมหาเศรษฐีไปแล้ว

ไม่จำเป็นต้องไปอเมริกาก็รวยได้ ดูคุณหมอ อนันต์ กับคุณหมอวิมล ก็ได้ เป็นเจ้าของโรงพยาบาลใหญ่โตในกรุงเทพฯ คุณหมอวิมลมีทับทิม และ Blue Saphire แต่ละเม็ดใหญ่เกือบเท่าไข่นกกระทา เป็นเจ้าแม่ทับทิมแข่งกับหมอกนกนาถที่แม่สอดโน่น

หมอสวนดอกรหัส 09 นี้ ใหญ่โตหรือร่ำรวยกันทั้งนั้น ตัวเองไม่ใหญ่แต่ภรรยาหรือสามีก็ใหญ่ เช่น ภรรยาของคุณหมอวีระชัย จำเริญดารารัศมี คือ ดร.บุษบง เป็น Director of The International Centre of Chiang Mai University หรือเรียกสั้นๆ ว่า IC,CMU ต่างชาติคนไหนมาเยี่ยม มช.ต้องรู้จักท่านทุกๆ คน เพราะท่านมี Hostel ราคาถูกไว้ต้อนรับแขกต่างประเทศของมช.

มเคยไปประชุมของแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยที่อุบลฯ พบว่าคุณหมอสำเนียง พลพานิช ของเรากลายเป็นเจ้าพ่อใหญ่อยู่ที่นั่น มีทั้งคลับ ทั้งค่าเฟ่ และตัวเองร้องเพลงเองด้วย ไม่ต้องจ้างนักร้องให้เปลืองเงิน

คุณหมอโสภาก็เคยเป็นหัวหน้าภาควิชาจักษุวิทยาของสวนดอก สามีคือดร.กิตติชัยก็เคยเป็นทั้งคณบดีคณะวิทยาศาสตร์ รองอธิการบดี ม.แม่ฟ้าหลวง คณบดีบัณฑิตวิทยาลัย มช. ฯลฯ

สรุปแล้ว สวนดอกรหัส 09 เจริญกันทุกๆ คน บางคนผมไม่เคยได้ข่าวเลย และไม่ได้เขียนถึงในบทความนี้ แต่ท่านอาจเจริญและร่ำรวยกว่าเพื่อนๆ ที่ผมเขียนมาแล้วทั้งหมด ต้องขอโทษด้วยที่ไม่ได้เขียนถึง ขอความกรุณาติดต่อผมได้ทางอีเมล์ mkantapu@mail.med.cmu.ac.th หรือโทร.เข้ามือถือของผม 09-997-4568 ถ้าท่านจะแต่งงานลูกหรือหลาน หรือ ตัวเอง ก็เชิญไป ผมไปทุกๆ งาน เพราะเป็นโอกาสดีของผมที่จะหนีเมียไปเที่ยว

สวัสดีครับ

16 มกราคม 2546 (วันครู)